Skip to content. | Skip to navigation

Personal tools
Log in
This Logo Viewlet registered to qPloneSkinBusiness4 product
You are here: Home

การอ่าน - ประเทศไทยขาดอะไร ?

#หนังสือเพื่อการอ่านคือความจำเป็นพื้นฐานที่เด็กทุกคนต้องได้รับ #ความรู้ทางการอ่านเป็นสิ่งที่ต้องสร้าง

 

องค์ประกอบหลักของปัญหาการอ่านในประเทศของเรามีอยู่สองประการcopy_of_5.jpg

ประการแรก : ความขาดแคลนหนังสือของเด็กไทย

เราเผชิญกับการขาดแคลนหนังสือที่เด็กจะเข้าถึงได้ในระดับวิกฤติเสมอมา ซึ่งเป็นเรื่องที่รับรู้กันอย่างกว้างขวาง

โดยข้อเท็จจริง จนถึงวันนี้ก็ยังเป็นเรื่องยากที่จะหาโรงเรียนใดที่มีหนังสือเพียงพอเพื่อรองรับนักเรียนได้ทั้งหมด แม้ว่าโรงเรียนขนาดเล็กบางโรง อาจมีหนังสือประมาณ 300 เล่ม ซึ่งประกอบด้วยนิตยสารเก่า นวนิยาย หนังสือประกอบการเรียน ประวัติศาสตร์ สารานุกรม และตำราเรียน ซึ่งหนังสือเหล่านี้มักจะขาดความน่าสนใจ และไม่สามารถตอบสนองความต้องการของเด็กได้ ส่วนหนังสืออ่านเล่น ที่เหมาะสมกับการกระตุ้นส่งเสริมการอ่านก็มีอยู่อย่างจำกัด เช่น โดราเอมอนสอนคณิตศาสตร์ หรือ นิทานภาพสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาตอนต้น อาจมีอยู่เพียง 10-20 เล่มเท่านั้น

นี่เป็นปัญหาที่ไม่มีใครมองเห็น เราไม่ได้มองว่าเด็กแต่ละคนควรได้รับหนังสือในฐานะสวัสดิการทางการเรียนรู้จากรัฐเป็นรายปี การรับรู้ทั่วไปคือ โรงเรียนมีงบสำหรับซื้อหนังสืออยู่ใน "งบประมาณวัสดุรายหัว" ซึ่งโรงเรียนสามารถใช้ได้ตามดุลยพินิจ แต่แม้ว่าบางโรงเรียนจะสามารถจัดสรรงบประมาณส่วนหนึ่งเป็นค่าหนังสือได้ แต่ปริมาณก็ยังน้อยและขาดความสม่ำเสมอ นอกจากนั้น ยังมีโรงเรียนมากกว่า 14,000 โรงที่เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ที่มีงบประมาณจำกัดจำเขี่ยและมีลำดับความสำคัญเฉพาะหน้าอื่นๆที่ยิ่งยวดกว่า

หากมีระบบจัดสรรหนังสือให้เด็กไทยหนึ่งเล่มต่อคนต่อปี ตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 (ประมาณ 11 ล้านคน) ก็ไม่น่าจะใช้งบเกิน 2,200 ล้านบาท (เฉลี่ยราคาปกละ 200 บาท) และหากเพิ่มจำนวนเป็น 4 เล่มต่อคนต่อปี (ภาคเรียนละสองเล่ม) ก็จะยังใช้งบประมาณต่ำกว่าหนึ่งหมื่นล้านบาทหรือต่ำกว่า 0.001% ของงบประมาณแผ่นดิน

แต่ถ้าจะจัดให้อย่างเพียงพอและหวังผลเชิงประจักษ์ได้จริงๆ เด็กๆแต่ละคนก็ควรจะได้รับหนังสืออย่างน้อยคนละ 4 เล่มต่อภาคเรียนหรือ 8 เล่มต่อคนต่อปี ซึ่งก็ยังต่ำกว่า 1% ของงบประมาณแผ่นดิน (. 2566 : 3.1 ล้านล้านบาท) แต่ประเทศชาติจะได้รับผลบวกมากมายมหาศาลประเมินค่าไม่ได้

เมื่อไม่มีงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล ก็จึงต้องอาศัยความเอื้ออาทรของผู้ใจบุญเพื่อให้ได้มาซึ่งหนังสือ แต่หากพิจารณาปริมาณหนังสือที่เด็ก "ต้องมี" ในฐานะความจำเป็นขั้นพื้นฐาน เปรียบเทียบกับหนังสือที่ได้รับจากการบริจาค ก็นับได้ว่าเป็นความสิ้นหวัง

ประการที่สอง : การขาดความรู้ด้านการส่งเสริมการอ่าน

เมื่อการรู้หนังสือเป็นปัจจัยฐานรากที่สำคัญยิ่งยวดในการกำหนดอนาคตของบุคคลและสังคม และการส่งเสริมการอ่านในระบบโรงเรียนเป็นองค์ประกอบสำคัญของการปลูกฝังความรักในการเรียนรู้ไปตลอดชีวิต แต่การมีครูที่ไม่ได้รับการฝึกฝนมาทำงานการอ่าน ได้ก่อให้เกิดความชะงักงันในการพัฒนาทางการศึกษา และเป็นเรื่องน่าสลดใจที่ไม่มีใครตระหนักว่า มีครูเพียงไม่กี่คนในหมู่ครูทั้งประเทศกว่าห้าแสนคน ที่เข้าใจหรือมีความรู้เรื่องการส่งเสริมการอ่านอย่างแท้จริง

แต่ก็ต้องย้ำด้วยว่านี่ไม่ใช่การตำหนิตัวครู หากแต่เป็นความบกพร่องของหลักสูตรฝึกหัดครูที่ไม่ได้สร้างความรู้นี้ให้เกิดขึ้นตั้งแต่แรก

1. ครูที่ไม่ได้รับการฝึกฝนมักขาดทักษะการสอนที่จำเป็นในการส่งเสริมการอ่านอย่างมีประสิทธิภาพ

เนื่องจากการพัฒนาการอ่านในเด็กมีความจำเพาะของตัวเอง ที่ประกอบไปด้วยความรู้หลายด้าน ทั้งการอ่านให้ฟัง การพัฒนาคำศัพท์ และกลยุทธ์การออกแบบกิจกรรมเพื่อพานักเรียนแต่ละระดับชั้นไปสู่การอ่านอย่างเป็นขั้นตอน ครูที่ไม่ได้รับการฝึกฝนจึงประสบปัญหาในการส่งเสริมให้เกิดการอ่านที่เหมาะสม ขาดกลยุทย์ที่หลากหลายและได้ผล ทำให้ความสนใจในการอ่านลดลง ทั้งไม่สามารถช่วยเหลือนักเรียนที่ประสบปัญหาการอ่านได้ ทำให้การอ่านกลายเป็นคอขวดขัดขวางความก้าวหน้าของนักเรียน

2. ความเข้าใจที่เพียงพอในการพัฒนาการอ่าน

ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับการพัฒนาการอ่านเป็นสิ่งสำคัญในการช่วยเหลือให้นักเรียนเดินไปบนเส้นทางแห่งการรู้หนังสือและความสนใจในการอ่าน ครูที่ผ่านการฝึกอบรม ย่อมเข้าใจธรรมชาติของทักษะการอ่านตามลำดับและสามารถระบุความต้องการของนักเรียนแต่ละคนได้ พวกเขาสามารถปรับกลยุทธ์การสอนเพื่อตอบสนองความต้องการเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในทางตรงกันข้าม ครูที่ไม่ได้รับการฝึกฝนอาจขาดความตระหนักในขั้นตอนของการพัฒนาการอ่าน ซึ่งนำไปสู่การสอนที่ไม่เหมาะสม ทำให้สูญเสียโอกาสในการบ่มเพาะความสามารถในการอ่านของนักเรียน

3. ความรู้เกี่ยวกับสื่อและหนังสือเพื่อส่งเสริมให้เกิดการอ่าน

องค์ประกอบสำคัญในการส่งเสริมการอ่าน คือการมีหนังสือและการใช้หนังสือเพื่อพัฒนาการอ่าน

ครูที่ผ่านการฝึกอบรมที่เพียงพอ ย่อมมีความเชี่ยวชาญในการระบุ คัดเลือกหนังสือที่เหมาะสมกับปัจเจก กลุ่มหรือชั้นเรียน รวมการเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่หลากหลายซึ่งตอบสนองทั้งความสนใจ ระดับการอ่าน และภูมิหลังของนักเรียน

ในทางกลับกัน ครูที่ไม่ได้รับการฝึกฝนมักขาดความรู้และความเชี่ยวชาญในการเข้าถึงและจัดการสื่อการอ่าน ส่งผลให้เกิดข้อจำกัดทางการอ่าน อาทิ มุ่งเน้นการอ่านเพื่อเข้าถึงข้อมูลตามหลักสูตร หรือเพื่อการทดสอบในรูปแบบต่างๆ ซึ่งมีแนวโน้มบั่นทอนแรงจูงใจของนักเรียนและขัดขวางความก้าวหน้าในการอ่านของพวกเขามากกว่าส่งเสริม

4. ความล้มเหลวในการส่งเสริมการอ่านในสถานศึกษา

การพัฒนาการอ่านในโรงเรียนต้องอาศัยความพยายามอย่างแน่วแน่ของนักการศึกษาที่ผ่านการฝึกอบรม เข้าใจถึงคุณค่าของการส่งเสริมการอ่านที่มากกว่าขอบเขตของหลักสูตร ครูที่ผ่านการฝึกอบรมที่ดีจึงสามารถใส่การอ่านลงไปในแง่มุมต่างๆ ของโรงเรียน อาทิ การอ่านหนังสือให้ฟัง จัดชมรมหนังสือ จัดหาสื่อที่เหมาะสม เชิญนักเขียนมาพบกับนักเรียน และอำนวยความสะดวกในกิจกรรมการอ่าน ฯลฯ พวกเขาย่อมสามารถปลูกฝังทัศนคติต่อการอ่านในหมู่นักเรียนได้ว่า "การอ่านเป็นการแสวงหาความสนุกสนานที่มีคุณค่าและมีความคุ้มค่าสูง"

ครูและผู้บริหารที่ไม่ได้รับการฝึกฝน อาจมองข้ามหรือลดคุณค่าความสำคัญของการสร้างวัฒนธรรมการอ่านโดยไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งส่งผลให้ผลกระทบต่อการพัฒนาการอ่านของโรงเรียนโดยตรงทั้งระยะสั้นและระยะยาว

5. ความสามารถในการประเมินและช่วยเหลือด้านการอ่านแก่นักเรียน

การประเมินความสามารถในการอ่านของนักเรียนและให้ความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที มีความสำคัญต่อความก้าวหน้าของนักเรียนอย่างยิ่งยวด ครูที่ผ่านการฝึกอบรม มีความเชี่ยวชาญในการจัดการและประเมินการอ่าน จะสามารถระบุนักเรียนที่ต้องการความช่วยเหลือและให้ความช่วยเหลือเป็นรายบุคคลได้อย่างเฉพาะเจาะจงและได้ผล

ครูที่ไม่ได้รับการฝึกฝนอาจขาดความรู้และทักษะในการประเมินที่ถูกต้องหรือให้การช่วยเหลือที่มีประสิทธิภาพ ปล่อยให้นักเรียนที่ประสบความยากลำบากในการอ่านดิ้นรนอยู่ตามลำพัง ส่งผลลบต่อพัฒนาการด้านการเรียนของพวกเขาในทุกๆด้าน

 

ดังนั้น แม้ว่าการส่งเสริมการอ่านในโรงเรียนจะหัวใจของการบ่มเพาะบุคคลไปสู่การรู้หนังสืออย่างแตกฉาน สร้างสติปัญญาอันไม่สิ้นสุด แต่การมีครูและผู้บริหารการศึกษาที่ไม่ได้รับการฝึกฝน ขาดความเชี่ยวชาญ ขาดความเข้าใจในการพัฒนาการทางการอ่าน ขาดความรู้เกี่ยวกับทรัพยากรทางการอ่าน ขาดความสามารถส่งเสริมปลูกฝังการอ่าน รวมทั้งขาดความสามารถในการประเมินและการให้ความช่วยเหลือนักเรียนที่ประสบปัญหาทางการอ่าน ล้วนเป็นปัจจัยที่ขัดขวางหยุดยั้งการพัฒนาการอ่านของนักเรียนทั้งสิ้น ประเทศชาติจึงต้องลงทุนสร้างนักการศึกษาที่มีคุณสมบัติเหมาะสม มีทักษะ ความรู้ และความกระตือรือร้นในการสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดความรักในการอ่านในหมู่นักเรียน มอบขวัญอันล้ำค่าของการรู้หนังสือให้พวกเขา ด้วยการกระตุ้นให้เกิดการแสวงหาความรู้อันไม่สิ้นสุดด้วยการอ่าน

Log in


Forgot your password?

พัฒนาการอ่านใรโรงเรียน