Skip to content. | Skip to navigation

Personal tools
Log in
This Logo Viewlet registered to qPloneSkinBusiness4 product
You are here: Home

สัมภาษณ์ ธีรวงศ์ ธนิษฐ์เวธน์

สัมภาษณ์ ธีรวงศ์ ธนิษฐ์เวธน์
พัฒนาการอ่านให้ยั่งยืน Mother& Care Mother & Care Vol.7 No.83 November 2011 สมาคมไทสร้างสรรค์ เป็นองค์กรเอกชน ที่ดำเนินงานมากว่า 10 ปีแล้ว ด้วยความเชื่อมั่นว่า การพัฒนาเด็กด้วยการอ่าน จะเป็นเส้นทางนำพาเด็กไปสู่ความดีงามในชีวิต พาพวกเขาสู่ขีดความสามารถที่เหมาะสม สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข และจุดเริ่มต้นของการพัฒนาเด็กด้วยการอ่านหนังสือให้เด็กๆ ฟังนั้น ก็คือผู้ใหญ่ที่อยู่รอบตัวเด็กๆ บุคคลที่เป็นแขกรับเชิญเพื่อพูดคุยเรื่องการอ่าน และการทำงานของสมาคมไทสร้างสรรค์ได้ดีครั้งนี้คือ คุณธีรวงศ์ ธนิษฐ์เวธน์ ผู้อำนวยการสมาคมไทสร้างสรรค์ ผู้ใหญ่ใจดี ที่ให้ความรู้เรื่องการอ่านกับพ่อแม่ คุณครูและองค์กรต่างๆ มานานกว่า 10 ปี ค่ะ
สัมภาษณ์ ธีรวงศ์ ธนิษฐ์เวธน์

mother & Care

Mother& Care : สมาคมฯทำงานในลักษณะใด

issue.pngคุณธีรวงศ์ : สมาคมฯ เน้นให้ความรู้เรื่องการอ่านกับพ่อแม่และชุมชน งานการอ่านและห้องสมุดก็เป็นงานรูปแบบหนึ่ง  และห้องสมุดที่สมาคมฯทำก็มีหลายรูปแบบและหลายขนาด แต่ส่วนมากอยู่ในแถบภาคอีสานครับ ซึ่งมีทั้งที่ตั้งอยู่กับที่ และหน่วยเคลื่อนที่เพื่อการพัฒนาเด็กด้วยการอ่าน และห้องสมุดเขนาดเล็กที่สามารถรื้อถอนได้ สามารถใส่หนังสือได้พอสมควร พอเหมาะกับชุมชน นอกจากนั้นก็ยังทำงานร่วมองค์กรต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อรณรงค์ ให้ความรู้และสนับสนุนการใช้การอ่านเป็นเครื่องมือในการพัฒนาเด็ก

Mother& Care : มีธีการทำงานเรื่องการอ่านกับเด็กอย่างไร

คุณธีรวงศ์ : วิธีการที่เราช่วยให้เด็กๆอ่านหนังสือได้ตั้งแต่ก่อนเข้าโรงเรียนประถมโดยไม่ต้องสอนอะไรเลย ก็คือการอ่านหนังสือให้เด็กฟังและเล่นกับเด็กๆ เด็กๆที่ผ่านกระบวนการแบบนี้เมื่อเข้าโรงเรียนแล้วจะสามารถเรียนรู้ในห้องเรียนอย่างมีความสุข แต่ต้องทำตั้งแต่ตอนที่เขายังเล็ก ตั้งแต่แรกเกิดเลยก็ได้ เริ่มเร็วกว่าก็ได้เปรียบกว่า และการทำงานกับพ่อแม่หรือผู้ใหญ่ในชุมชนนั้น โดยมากเขาจะยังไม่รู้หรอกว่าทำไมต้องใช้หนังสือ ทำไมต้องอ่านหนังสือให้เด็กๆฟัง หรือจะใช้หนังสืออย่างไรให้เกิดประโยชน์ ใช้ยังไงให้เด็กชอบ เราก็ต้องลงมือทำงานกับทั้งพ่อแม่และชุมชน รวมทั้งศูนย์พัฒนาเด็ก โรงเรียน และอบต. หรือเทศบาลต่างๆ ต้องเข้าหาเขาครับ และต้องตามติดตลอดด้วย แค่ส่งข้อมูลให้หรือช่วยหาผู้บริจาคสร้างห้องสมุดแต่ไม่มีคนตามดู ตามช่วยก็ไม่เกิดความรู้ ไม่เกิดการพัฒนาหรอกครับ พูดรวมๆว่าต้องทำทั้งสองสามอย่าง คือต้องทำให้ดู ต้องคอยช่วยเหลือและต้องติดตามช่วยเหลือต่อเนื่อง โครงการฯที่ไม่มีเงินติดตามนั้นเท่าที่เห็นก็ไม่มีสำเร็จหรอกครับ อีกอย่างคือต้องตามนานๆด้วยไม่ใช่แค่สี่ห้าเดือนแล้วเลิก

 

Mother& Care : การอ่านหนังสือให้เด็กฟังช่วยการเรียนรู้ที่เป็นรูปธรรมของเด็กอย่างไรบ้างคะ

ธีรวงศ์ ธนิษฐ์เวธน์คุณธีรวงศ์ : ผมคิดว่าจริงๆแล้วหนังสือทำหน้าที่ของมันเอง เพียงเราต้องใช้หนังสือดี และที่ต้องใช้หนังสือที่ดีเพราะเรามีเวลาทำงานกับเด็กเล็กสั้นมาก แค่ห้าหกปีเด็กๆก็เข้าโรงเรียนแล้ว ในเวลาสั้นๆนี้หนังสือดีก็จะได้ผลที่ดีกว่า การอ่านหนังสือให้เด็กฟังทุกวัน จึงแทบจะเป็นวิธีการอย่างเดียวที่สมาคมฯมุ่งเน้น เพราะมันง่ายมากครับ ง่ายขนาดที่ทุกคนสามารถทำได้ และถ้าทำต่อเนื่องแล้วเด็กๆจะเริ่มอ่านหนังสือออกในเวลาต่อมา อันนี้เราจะถือว่าการอ่านหนังสือออกเองเป็นผลที่เป็นรูปธรรมก็ได้ แต่ผลกระทบเชิงบวกด้านอื่นๆมีมากนับไม่ถ้วน วันนี้คงพูดไม่หมด(ฮา) แต่สิ่งหนึ่งที่ผมพูดเฉี่ยวไปมาคือหนังสือภาพเป็นหนังสือที่ต้องให้พ่อแม่อ่านให้ลูกฟัง ไม่ใช่ให้เด็กอ่านนะครับ คนบ้านเราส่วนใหญ่มักเข้าใจว่ามีหนังสือให้เด็กอ่านก็พอแล้ว แต่ไม่มีประโยชน์หรอกครับ หรือมีก็น้อย ถึงเด็กจะอ่านหนังสือออกแล้วก็เถอะ เพราะไม่สนุกเท่าพ่อแม่อ่านให้ฟัง เราช่วยหนังสือสร้างแรงขับให้เกิดขึ้นในหัวใจของเด็กด้วยความประทับใจที่ได้ฟังจากปากพ่อแม่ เด็กๆจะเห็นว่าโลกของหนังสือคือความสุขและสนุก มหัศจรรย์ และน่าหลงใหล อันนี้แหละสำคัญที่สุด เพราะมันจะส่งเขาจะเข้าหาหนังสือตลอดชีวิตถ้าเราพาเขาไปถึงตรงนี้ได้

Mother& Care : อ่านหนังสือให้เด็กฟังมีผลต่อการเรียนอย่างไร ?

คุณธีรวงศ์ : เมื่อกี้พูดว่าอ่านหนังสือให้เด็กฟังเป็นวิธีการที่เกิดผลดีหลายอย่าง ที่นี้มาดูว่าที่ค่าเฉลี่ยของเด็กที่สามารถพูดได้คำแรกอยู่ที่ช่วงวัย 1 ขวบเด็กพูด 1 คำ แต่ไม่ได้หมายความว่าเขารู้จักคำเพียงคำเดียวนี่ครับ เพราะจริงๆแล้วเขารู้ความหมายของคำมากมายที่ไม่ได้พูดออกมา ผมเปรียบเทียบกับก้อนน้ำแข็งลอยน้ำ คำที่หลุดออกจากปากเด็กก็เหมือนน้ำแข็งส่วนที่โผล่ขึ้นบนผิวน้ำ  ส่วนที่จมอยู่ใต้น้ำนั้นมีเยอะมากแต่เรามองไม่เห็น ฉะนั้นถ้าเด็กมีคำศัพท์ที่พูดออกมาได้มากเท่าไร ก็แปลว่าส่วนที่เรามองไม่เห็นก็ยิ่งมีมากเป็นทวีคูณ  การอ่านจึงเป็นการสร้างมวลใต้น้ำที่มีนัยยะสำคัญมากๆ และเด็กๆที่พกภาษาหรือคำศัพท์มาจากบ้านเยอะ เมื่อเข้าโรงเรียนจะสามารถเรียนรู้ได้ดีกว่ากลุ่มเด็กที่ไม่มีประสบการณ์ทางภาษา ไม่มีชุดคำศัพท์อยู่ในตัว กระบวนการที่ช่วยสร้างชุดภาษาก็มาจากการอ่านหนังสือให้เด็กฟังในระยะเวลา 6 ปีแรกที่อยู่กับพ่อแม่ เมื่อเข้าโรงเรียนเด็กก็เข้าใจอะไรง่าย คุ้ยเคยกับตัวหนังสือมาก่อนใคร อะไรๆก็ง่ายหมด จึงเป็นไปไม่ได้ที่เขาจะไม่ประสบความสำเร็จเรื่องการเรียนตั้งแต่ปีแรก แล้วปีต่อๆไปอย่างไม่มีหยุด

คุณลองคิดดูสิครับ ถ้ากระบวนการเลี้ยงลูกด้วยหนังสือ ช่วยให้เด็กสามารถอ่านเป็นเรื่องเป็นราวได้ตั้งแต่ก่อนเข้าโรงเรียน แล้วจะเกิดขึ้นอะไรขึ้นกับชีวิตของเขาในระยะต่อไป ช่วงเวลา 6 ปีแรกจึงมีความหมายต่อลูกของเรามาก

Mother& Care : มีหลักในการเลี้ยงลูกอย่างไรคะ

คุณธีรวงศ์ : ผมบอกพ่อแม่และคุณครูทุกครั้งว่าจะสอนอะไรกับเด็กก็ได้ทั้งนั้นถ้าทำให้เด็กๆสนุกได้ แต่จะสอนอะไรไม่ได้เลยถ้าเขาไม่รู้สึกสนุก ดังนั้นจุดเริ่มต้นก็คือ ต้องอ่านหนังสือให้ฟังอย่างสนุกสนานและมีความสุข ถ้าเราอ่านจากหัวจิตหัวใจของเราเด็กจะจับความรู้สึกนั้นได้ เพราะเด็กๆเป็นอะไรที่มหัศจรรย์มากๆ เราไม่มีทางหลอกเขาได้หรอก และถ้าเราหลอก เขาก็จะเรียนรู้ว่านี่คือเล่ห์กลอย่างหนึ่งที่เขาจะนำไปใช้กับคนอื่นได้ด้วย ดังนั้นถ้าเราไม่อยากให้ลูกเป็นแบบนี้ก็ไม่ควรทำแบบนี้กับลูก และอย่าเลือกหนังสือที่เน้นความรู้เพราะส่วนใหญ่ไม่ค่อยสนุก ทำให้เด็กๆสนุกได้ยาก มีโอกาสฝืดขึ้นมาได้ทันที กลายเป็นมุขครูทันที(ฮา) ก็เลยกลายเป็นการสร้างความประใจเชิงลบต่อเด็กๆไป ที่สมาคมฯ พวกเราใช้คำว่า อ่าน เล่า เล่น บางทีก็ใช้คำว่า เลี้ยงลูกด้วยหนังสือ และกิจกรรมการเล่นหลังการอ่านเป็นแนวครับ

ส่วนของคุณครูนั้น มีคำถามหนึ่งที่ครูมักจะลืมหรือตอบไม่ได้ว่าเด็กๆเรียนรู้จากอะไร คำตอบคือเรียนรู้จากกิจกรรมการเล่น แต่คนเป็นครูมักเผลอคิดว่าข้อมูลคือความรู้ แล้วก็ยัดข้อมูลใส่หัวเด็กตั้งแต่เล็กๆ การเล่นเป็นประสบการณ์การเรียนรู้ผ่านประสาทสัมผัสโดยตรงที่สำคัญที่สุดสำหรับเด็ก ส่วนการอ่านหนังสือภาพให้เด็กๆฟังนั้นไม่ต่างจากสะพานที่เราพาเด็กๆเดินจากของจริงไปสู่โลกของสัญลักษณ์ จึงเป็นอีกหนึ่งคำตอบว่าเหตุใดเด็กๆที่มีผู้ใหญ่อ่านหนังสือให้ฟังจึงพร้อมกว่าคนอื่นเมื่อเข้าโรงเรียน ไปเรียนอ่าน เรียนเขียน และใช้สัญลักษณ์เป็นเครื่องมือในการเรียน

Mother& Care : สถานการณ์เรื่องการอ่านในบ้านเราเป็นอย่างไรคะ

คุณธีรวงศ์ : ผมประมาณว่าขณะนี้เด็กไทยในระบบโรงเรียนของเรากว่า 10 % อ่านหนังสือไม่ออก อันนี้ยังไม่นับตัวเลขสะสมของคนที่ออกจากโรงเรียนไปโดยไม่สามารถอ่านเขียนได้นะครับ ส่วนตัวเลขที่กระทรวงศึกษายอมรับคือ อ่านไม่ออก 7% เขียนไม่ได้ 17% คิดไม่เป็น 24% มันเป็นตัวเลขที่น่ากลัวมาก เพราะแค่ที่อ่านไม่ออกก็นับรวมได้หลายแสนคนแล้ว ทั้งที่การอ่านเป็นทักษะที่ง่ายที่สุด และที่ไม่มีใครพูดถึงกันคือส่วนที่เขียนหนังสือไม่เป็น ที่มีเกือบหนึ่งในห้าของทั้งหมด ผมพูดง่ายๆว่าเขียนหนังสือไม่เป็นแล้วโตขึ้นจะไปทำมาหากินอะไร ไม่ต้องพูดไปไกลถึงหาความรู้อะไรมาใส่ตัวให้ยุ่งยากหรอกครับ คุณเคยเห็นพนักงานในที่ต่างๆเขียนใบเสร็จไหม อยากให้ลองดูแล้วจะพบว่ากว่าครึ่งเขียนใบเสร็จแทบจะไม่ได้ แค่ลอกชื่อที่อยู่ของเราลงไปนะ ส่วนการใช้เครื่องคิดเลขคิดภาษีร้อยละเจ็ดนั้นแทบจะต้องให้เจ้าของร้านคิดให้เท่านั้น อันนี้ไม่ได้เป็นความผิดของเเลย แต่ผิดที่เราไม่สามารถหยิบยื่นทักษะและความสามารถพื้นฐานให้เขาได้ ทั้งๆที่เราใช้กฏหมายบังคับเขาเข้าโรงเรียนตั้ง 6 ปี แล้วเขาจะดูแลชีวิตตัวเอง หรือครอบครัวในอนาคตของเขาได้อย่างไร เขาจะดูแลสังคมนี้ด้วยวิธีใด

 

คุณภาพการศึกษาของเราไม่เคยตกต่ำขนาดนี้ในประวัติศาสตร์ แต่คนที่พูดเก่งๆในกระทรวงก็ยังสุขสบายกันดี แล้วถ้าผมเป็นพ่อของเด็กหนึ่งในนั้นและอยากถามว่าลูกของผมเข้าโรงเรียนปีละ 200 วัน เข้าห้องเรียนวันละ 5 ชั่วโมง รวมหกปีเป็นเวลา 6,000 ชั่วโมงแต่คุณทำให้ลูกของผมอ่านเขียนไม่ได้ คุณจะอธิบายให้ผมเข้าใจได้อย่างไร ลูกของผมปัญญาอ่อนขนาดหนักถึงขนาดช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ แต่งตัวเองไม่ได้หรือเปล่า เพราะขนาดคนที่ทั้งหูหนวกและตาบอดเขายังสอนจนจบปริญญาได้เลย

 

อนาคตประเทศไทยในอีก 10-20 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ก็คงต้องคิดกันเอง พ่อแม่ก็ต้องพึงตัวเองให้มากที่สุด แต่คนจนจะทำอย่างไร ห้องสมุดก็มีน้อย ต้องดิ้นรนหาเลี้ยงชีพสารพัด เราจึงมีคำถามอยู่เต็มไปหมดที่หาคำตอบไม่ได้  ส่วนสมาคมฯก็ทำได้เพียงแค่สิ่งเล็กๆที่มันจะมีผลต่ออนาคตของเด็กบางกลุ่ม และทำคนเดียวไม่ได้เสียด้วย มีคนถามผมว่า แล้วจะมีพ่อแม่สักกี่คนที่มีโอกาสรับรู้เรื่องนี้ ก็ต้องตอบว่าจำกัดมาก เราไม่สามารถเข้าถึงครอบครัวได้เป็นหลักล้าน เราจึงต้องพึ่งสื่อและสื่อก็ต้องช่วยเราด้วย ผมคิดว่า เด็กๆคือผลผลิตของทุกคนและเป็นความรับผิดชอบของทุกคนร่วมกัน เด็กโตมาดีหรือโตมาไม่ดีก็เป็นผลผลิตของสังคมทั้งนั้น ไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง

 

Mother& Care : อะไรคือปัญหาหรืออุปสรรคในการทำงานของสมาคมฯ

TWA printคุณธีรวงศ์ : ขนาดความมุ่งหวังของสมาคมฯมันใหญ่มาก เราอยากเห็นความเปลี่ยนแปลงในระดับสังคม แต่คนสนับสนุนงานของเรากลับมีน้อยมาก เพราะงานในแบบที่สมาคมฯทำนั้น ไม่มีภาพเด็กยากจน ไม่มีภาพเด็กหิวโหย ผู้คนเจ็บป่วย เด็กถูกทารุนหรือถูกทำร้ายที่จะทำให้ทุกคนสะเทือนใจแล้วบริจาค งานของเราจึงไม่มีใครสนใจจะช่วย เพราะการพูดถึงอนาคตที่ดี ชีวิตที่มีคุณภาพของเด็กมันจับต้องไม่ได้ แต่ต้องลงทุนสูง เช่นถ้าเราอยากให้เด็กเข้าห้องสมุด เราก็ต้องมีห้องสมุดสวยๆ บรรยากาศที่ดีๆให้พวกเขา ต้องไม่ใช่พื้นที่มีแต่ความหมองมัว เต็มไปด้วยหนังสือเก่า ดังนั้นมันก็มีค่าใช้จ่ายเยอะ แต่คนส่วนใหญ่มองไม่เห็นหรือมองข้าม และเข้าใจเอาเองว่าเรามีทรัพยากร แต่ก็ไม่ค่อยมีใครถามหรอกครับว่าเอาสิ่งเหล่านั้นมาจากไหน มาได้อย่างไร สมาคมฯจึงเหมือนต่อสู้กับการพัฒนางานอย่างโดดเดี่ยวตลอดมา แต่ได้รับคำชมเยอะ คงเป็นเพราะสังคมเราไม่ได้สอนให้เด็กๆเติบโตขึ้นพร้อมกับการหยิบยื่น ใส่ใจผู้อื่น เราก็เลยไม่ไว้วางใจที่จะให้อะไรกับใคร ไม่มีฐานคิดว่าเพียงได้ให้ก็พอใจแล้ว ถ้าเห็นว่าสิ่งเล็กๆที่พวกเขาทำนั้นเกิดประโยชน์ ก็ไม่ต่างจากการที่เราไม่ให้เด็กยืมหนังสือเพราะกลัวหนังสือหาย แต่ไม่เคยนึกกลัวหรอกว่าโอกาสของเด็กจะหายไปถ้าเราเอาแต่หวงหนังสือ

Mother& Care : เห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างจากการทำงานพัฒนาการอ่านมา ๑๐ ปี

คุณธีรวงศ์ : กว่า 10 ปีที่ผ่านมา เราทำงานในฐานะองค์กรเอกชน ไม่คาดหวังหรอกว่ารัฐจะเข้ามาช่วย เพราะบ้านเรามีปัญหาเรื่องการใช้เงินรัฐในทุกระดับ เราทำงานโดยตรงกับพ่อแม่ ชุมชน คุณครู องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือกับกลุ่มคนที่สนใจ งานการศึกษาเป็นงานถมทะเล ถมไม่มีวันเต็มหรอกครับ หนทางที่จะพอมีก็คือการชักชวนให้ช่วยกันถมให้ต่อเนื่อง และต้องทำงานเชิงรณรงค์ จำเป็นจะต้องใส่ข้อมูลซ้ำๆ เพื่อเปิดโอกาสให้คนอื่นๆ ได้รับข้อมูล ให้คนที่ยังไม่มีโอกาสเจอข้อมูลได้รับรู้ข้อมูล ตอนนี้ก็พอจะนับได้ว่าเราก้าวข้ามจุดนี้มาบ้างแล้ว เพราะเดี๋ยวนี้พ่อแม่อ่านหนังสือให้ลูกฟังกันเยอะขึ้น รับรู้กันมากขึ้นว่าทำแล้วดี สื่อรูปแบบต่างๆก็ช่วยกันใส่ข้อมูลลงไปเรื่อยๆ นิตยสารแม่และเด็กทุกเล่มก็ทำเรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหาหลักแล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่มีเล่มใดทำ ผมคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้น เป็นตัวชี้วัดผลการทำงาน เป็นนิมิตรหมายที่ดี  แต่ก็ยังต้องทำงานต่อไป ต้องทำให้พื้นที่บริการการอ่านหรือห้องสมุดมีฐานะเท่าเทียมกับวัดและโรงเรียน เป็นที่ๆทุกคนเชื่อมั่น ไว้วางใจ ศรัทธา และให้ความนับถือเท่าๆกับสองอย่างแรก และอยู่อย่างมั่นคงและถาวร ไม่ใช่เปลี่ยนคนทีก็ปิดที เพราะเห็นเรื่องนี้เป็นแค่สีสันของคนก่อน ถ้าถึงขั้นนั้นได้เมื่อไหร่ก็ถือได้ว่างานของสมาคมฯประสบความสำเร็จ

 

Mother& Care : สังคมจะมีส่วนช่วยสมาคมฯได้อย่างไรบ้าง

ในฐานะผู้บริหารสมาคมฯต้องบอกตามตรงว่า เราอาจจะต้องปิดกิจการ เพราะเราไม่ได้รับการช่วยเหลือจากคนในเมืองไทยกันเองอย่างที่ควรจะเป็น  เราอาจจะพลาดที่ได้แต่รณรงค์ให้ความรู้  แต่ไม่ได้รณรงค์เพื่อขอบริจาค หรือขอการสนับสนุนมากเพียงพอ เราอาจจะไม่ได้บอกอย่างชัดเจนว่าเราจำเป็นต้องใช้เงินทุนเพื่อการนั้นหรือการนี้  แต่คิดหวังเอาเองว่าจะมีคนที่เข้าใจและช่วยเหลือเพราะก็มีคนชมเยอะว่างานดี มีประโยชน์

งานที่สมาคมฯ ทำมาตลอด 10 กว่าปีนี้ เรามองว่าเราทำงานในนามของผู้บริจาค ในนามของชุมชนหรือสาธารณะ สมาคมไทสร้างสรรค์ ไม่ใช่สมบัติของผมหรือของใคร แต่เป็นองค์กรของคนไทย ที่มีคนต่างประเทศช่วยเหลือทุนก่อตั้งและให้ทุนทำงานในตอนต้น แต่ว่านับแต่นี้เป็นต้นไปเราต้องช่วยกันเอง ดังนั้นหากไม่มีเงินบริจาคเราก็ต้องลดงานลงหรือยุติบทบาทในที่สุด