Skip to content. | Skip to navigation

Personal tools
Log in
This Logo Viewlet registered to qPloneSkinBusiness4 product
You are here: Home หนังสือสำหรับเด็ก

หนังสือสำหรับเด็ก

เรียบเรียงโดย ปิยพร เศรษฐศิริไพบูลย์

“หนังสือเด็กคือหนังสือของเด็ก” คำจำกัดความที่ฟังง่าย แต่เข้าใจยาก ความเข้าใจจึงถือเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างหนังสือเพื่อเด็ก อย่างน้อยที่สุดต้องเข้าใจว่า เด็กคิดอย่างไร เด็กต้องการอะไร มองโลกรอบตัวอย่างไร รวมถึงต้องเข้าใจพัฒนาการของเด็กแต่ละวัยx1453.jpgด้วย และใช่ว่าหนังสือเด็กทุกเล่มเด็กอ่านแล้วจะสนุกเสมอไป บ่อยครั้งที่หนังสือเด็กกลายเป็นหนังสือของผู้ใหญ่ เพราะผู้ทำผู้ผลิตเป็นผู้ใหญ่ นึกและตีความโลกของเด็กตามความเข้าใจของตน เนื้อหาที่นำเสนอจึงเป็นไปตามที่ผู้ใหญ่คิด(แทนเด็ก)

ธรรมชาติของเด็กมีความอยากรู้อยากเห็นมีความสนใจต่อสิ่งรอบตัว โดยเริ่มจากสิ่งใกล้ตัวเห็นหน้าพ่อแม่ เห็นขวดนม เห็นปลาตะเพียนเห็นสีแดงก็เกิดความสนใจใคร่รู้ ซึ่งในทางวิชาการความสนใจต่อภาพที่เห็นนี้เป็นจุดเริ่มของพัฒนาการระบบประสาท โดยเฉพาะเด็กในช่วงอายุ ๑ - ๖ ขวบ อยู่ในช่วงที่เซลล์สมองมีการพัฒนามากที่สุด เกิดการเชื่อมโยงของใยประสาทมากที่สุด เราจึงมักได้ยินคำพูดที่ว่า เด็กจะฉลาดหรือไม่ขึ้นอยู่กับการพัฒนาสมองในช่วงวัยนี้

นายแพทย์อุดม เพชรสังหาร อดีตนายกสมาคมไทสร้างสรรค์ กล่าวว่า “ภาพเป็นสิ่งกระตุ้นเร่งเร้าประสาทสัมผัสสายตาของเด็ก เมื่อเด็กเห็นภาพจะเกิดการกระตุ้นประสาทตาและเกิดจินตนาการ เกิดการคิด การตีความ ซึ่งเป็นพัฒนาการของระบบประสาทในเด็ก”

เมื่อการเรียนรู้ของเด็กเริ่มต้นจากภาพ เราจึงมี “หนังสือภาพ” สำหรับเด็กเกิดขึ้น เพื่อก่อเกิดการพัฒนาดังกล่าว

ความหมายของหนังสือภาพ

หนังสือภาพคือหนังสือเล่มแรกๆของเด็ก หนังสือภาพสำหรับเด็กคือหนังสือที่ผู้ใหญ่ต้องอ่านให้เด็กฟัง ไม่ใช่หนังสือสำหรับเด็กอ่านเอง หนังสือภาพสำหรับเด็กเป็นหนังสือที่มีภาพประกอบเป็นสำคัญ กล่าวคือ มีภาพในสัดส่วน ๗๐ - ๘๐ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ขณะที่มีตัวหนังสือเพียง ๒๐ - ๓๐ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ยิ่งหนังสือสำหรับเด็กเล็กมากเท่าไร ตัวหนังสือก็มีความจำเป็นน้อยเท่านั้น หนังสือภาพที่ดีต้องสื่อสารกับเด็กได้อย่างดีมีภาพที่เล่าเรื่องได้ บางครั้งอาจไม่จำเป็นต้องมีตัวหนังสือหรือไม่ต้องอ่านตัวอักษร เด็กก็สามารถอ่านเรื่องและเข้าใจเรื่องจากภาพได้ นอกเหนือจากนี้ยังมีความละเอียดลออ ภาพต้องให้ข้อมูลแก่เด็กได้ ภาพต้องสื่ออารมณ์ของตัวละครของเรื่องได้ เช่น เนื้อหาของเรื่องบอกถึงความตื่นเต้น ลึกลับ และการผจญภัย อารมณ์ของภาพก็ต้องเป็นไปในอารมณ์เดียวกันนั้นด้วย หนังสือสำหรับเด็กไม่จำเป็นต้องมีแต่สีสวยหวานเท่านั้น หากหนังสือภาพขาว-ดำ หรือสีทึบทึมก็เป็นหนังสือที่ดีสำหรับเด็กได้ ถ้าสามารถสื่อสารอารมณ์ของเรื่องได้ หนังสือที่ดีระดับโลกหลายเล่มที่ครองใจเด็กมาอย่างยาวนานก็เป็นหนังสือภาพขาว-ดำ

สร้างจินตนาการ ฝึกนักคิด จากหนังสือภาพ

ความสนใจที่มีต่อภาพ ไม่ว่าจะจากในหนังสือภาพหรือจากรูปภาพทั่วไป เป็นการกระตุ้นให้เกิดการทำงานของระบบประสาท ซึ่งจะส่งผลดีต่อการพัฒนาทางด้านสติปัญญาในเด็กเล็กๆ

จินตนาการเป็นสิ่งสำคัญสำหรับมนุษย์เพื่อการเรียนรู้ จินตนาการนำไปสู่การคิด นำไปสู่การเกิดองค์ความรู้ใหม่ๆ งานวิจัยทางการศึกษาระบุว่าการสร้างจินตนาการในตัวมนุษย์ควรเร่ิมต้นที่วัยเด็กเป็นสำคัญ เพราะเป็นช่วงวัยที่ระบบประสาทมีการพัฒนาอย่างเต็มที่

คุณหมออุดมบอกว่า “จินตนาการของเด็กเป็นธรรมชาติของเขา ไม่ควรไปบอกว่าเด็กคิดอย่างนี้ไม่ถูก ถ้าเราไปห้ามเขา ก็เท่ากับห้ามพัฒนาการด้านจินตนาการ เด็กจินตนาการเป็นซูเปอร์แมน เห็นหมีพูดได้ ช้างแปลงกายได้ แต่เมื่อเด็กโตขึ้นความเป็นจริงจะกลับมา ซึ่งเป็นไปตามพัฒนาการของเด็ก มนุษย์ต้องมีจินตนาการ การเรียนรู้ของมนุษย์ต้องอาศัยจินตนาการ คนที่ถูกฝึกให้ใช้จินตนาการ ให้คิดอะไรมากเท่าไร เกิดภาพในสมองก็จะยิ่งดี”

MatsuiTH.jpgมร.ทาดาชิ มัตษุอิ ปรมาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหนังสือภาพเพื่อเด็กกล่าวไว้ว่า “ภาษาเล่าเรื่องเป็นภาษาที่มองด้วยตาไม่เห็น แต่เมื่อเด็กได้ฟังนิทาน ภาพของตัวละครในนิทานจะปรากฎขึ้นให้เด็กเห็นอยู่ในหัว แม้ว่าตรงหน้าเด็กจะไม่มีอะไรเลยแต่พลังของเรื่องราวที่เด็กได้ยินจะทำให้เด็กวาดภาพขึ้นเองในสมองได้ หนังสือภาพจะช่วยให้เด็กในการวาดภาพขึ้นเองในสมองจากภาษาซึ่งมองด้วยตาไม่เห็นนี้ คือพลังจินตนาการสร้างสรรค์ซึ่งจะกลายเป็นพลังเรียนรู้จากการอ่านหนังสือในอนาคต หากเด็กไม่มีประสบการณ์ในการฟัง รับรู้และวาดภาพจินตนาการเอง รู้จักแต่วิธีประสมอักขระและอ่านหนังสือออกตามตัวอักษร เด็กอ่านหนังสือออกก็จริงแต่จะอ่านไม่เข้าใจลึกซึ้ง”

พัฒนาภาษาด้วยหนังสือภาพ

การเรียนรู้ภาษาเป็นกระบวนการพัฒนาอย่างหนึ่งของมนุษย์ ซึ่งต้องอาศัยทักษะฟัง พูด อ่าน เขียน การพัฒนาทักษะทั้งสี่เกิดขึ้นตั้งแต่ในช่วงวัยเด็กดร.วรนาท รักสกุลไทย นักเทคโนโลยีการศึกษา โรงเรียนเกษมพิทยา แผนกอนุบาล ให้มุมมองการพัฒนาภาษาไว้ว่า ภาษาคือเครื่องมือในการสื่อสารถ่ายทอดความคิด วิธีเริ่มต้นการสอนภาษาสำหรับเด็กอนุบาลต้องเริ่มจากหนังสือนิทานภาพสำหรับเด็ก เด็กอนุบาลในช่วงสองขวบครึ่งถึงห้าขวบเป็นช่วงที่มีพัฒนาการทางภาษามาก การพัฒนาทักษะภาษาทั้งฟัง พูด อ่าน เขียน ต้องพัฒนาไปพร้อมกัน แต่สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญในช่วงสามปีแรกก็คือ ทักษะการฟังและการพูด คนที่จะอ่านเขียนได้ดีต้องฟังและพูดได้ก่อน

การเล่าเรื่องจากหนังสือภาพให้เด็กฟังไม่เพียงกระตุ้่นจิินตนาการของเด็กให้เกิดการสร้างภาพขึ้นหากยังเสริมสร้างทักษะการฟังให้กับเขาด้วย การที่เด็กได้ฟังบ่อยครั้งจะช่วยให้เด็กเรียนรู้คำมากขึ้นเกิดการสะสมเป็นคลังคำ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญต่อการพัฒนาทักษะด้านอื่นต่อไป

หนังสือ...สะพานเชื่อมพ่อแม่ลูก

แม้หนังสือภาพจะมีอิทธิพลดึงความสนใจของเด็กและมีส่วนช่วยในด้านพัฒนาการสติปัญญาของเด็ก แต่ใช่ว่าการเรียนรู้จากหนังสือภาพด้วยตัวเด็กเองจะทำให้เด็กพัฒนาได้อย่างเต็มศักยภาพ คุณหมออุดมบอกว่า “การให้เด็กดูหนังสือภาพคนเดียว พ่อแม่ไม่ยุ่งเกี่ยว จะไม่เกิดการพัฒนาอย่างเต็มที่ เพราะไม่มีตัวกระตุ้น ถ้าเด็กเห็นภาพในหนังสือแล้วมีการชี้ชวนจะเกิดการคิด โดยเฉพาะช่วง ๓ ปีแรกเซลล์สมองของมนุษย์เชื่อมกันด้วยใยประสาท เมื่อเซลล์สมองได้รับการกระตุ้น ใยประสาทก็ยิ่งหนาแน่น ใยประสาทหนาแน่นมากเท่าไร เด็กก็ยิ่งฉลาดมากขึ้นเท่านั้น การกระตุ้นอย่างต่อเนื่องจะทำให้สมองพัฒนาได้ดีกว่า ขณะที่สมองกำลังถูกกระตุ้น เมื่อเด็กนำไปผูกกับความรู้สึกบางอย่าง เช่น ความอบอุ่นที่ได้จากอ้อมแขนของพ่อแม่ที่อ่านหนังสือหรือชี้ชวนให้ดูภาพ จะทำให้เด็กเกิดความรู้สึกที่ดีต่อหนังสือ ตรงนี้มีส่วนสำคัญทำให้เด็กรักการอ่านหนังสือ เมื่อเด็กเห็นหนังสือครั้งใดและได้อยู่ในอ้อมแขนพ่อแม่ ก็จะเกิดความผูกพัน เกิดความสุข เมื่อมีความสุขก็จะสนใจทำสิ่งนั้นต่อไป”

การที่ครอบครัวสร้างเด็กให้เติบโตทางด้านสติปัญญาไปพร้อมๆกับการเติบโตทางด้านจิดใจที่มีรากฐานความอบอุ่นของครอบครัว ย่อมทำให้เด็กกลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีศักยภาพ เกิดพลังที่จะสรรค์สร้างสังคมและโลกต่อไป

สอนด้วยหนังสือภาพ...ผ่อนแรงได้เยอะ

หนังสือภาพไม่เพียงได้เปิดโลกแห่งจินตนาการให้เด็กเกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาทางด้านสติปัญญาเท่านั้น หากหนังสือภาพยังเป็นเครื่องมือชั้นดีที่พ่อแม่หรือแม้แต่คุณครูใช้สอนเด็กได้ ดังที่อาจารย์วรนาท บอกว่าเราสามารถใช้หนังสือภาพถ่ายทอดหรือสอนให้เด็กรู้จักความโกรธ รู้จักความเมตตา หรือรู้จักการกินผัก การแปรงฟัน เด็กหลายคนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหลังจากได้อ่านหนังสือภาพที่โดนใจ ตัวเอกในเรื่องกลายเป็นฮีโร่ของเขา เช่น หนังสือเรื่องน้องหมีแต่งตัว เมื่อเห็นว่าน้องหมีแต่งตัวเป็น เขาก็อยากเป็นฮีโร่เหมือนตัวเอกในเรื่อง เขาก็จะแต่งตัวเอง

การพร่ำบ่นพร่ำสอนเด็กด้วยวาจาเพียงอย่างเดียวอาจไม่สามารถเข้าถึงเด็กได้ เด็กไม่เข้าใจว่าคราบสีเหลืองๆและสีน้ำตาลที่ฟันเป็นแบคทีเรียทำให้ฟันผุ แต่เด็กรู้ว่าถ้าฟันมีจุดสีส้มและเหลืองแสดงว่ามีแฮ็กกี้กับดิ๊กกี้อยู่ จะทำให้ปวดฟัน ต้องใช้กองทัพยาสีฟันช่วย (จากเรื่องถนนสาย ฟ.ฟัน)

โลกของเด็กก็คือโลกของเด็ก ไม่ว่าจะเป็นการตีความ ความเข้าใจ หรือคำพูด การเข้าถึงโลกของเด็กหาใช่เรื่องยากนัก หากรู้จักเลือกช่องทางการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพเช่นหนังสือภาพเป็นประตูเชื่อมโยง คราวนี้เรื่องราวในโลกความจริงที่ผู้ใหญ่อยากบอกเด็กๆก็จะทำได้ง่ายขึ้น

ข้อความบางตอนจาก คู่มือพ่อแม่ สร้างนิสัยรักการอ่านให้ลูกน้อย  โดย มร.ทาดาชิ มัตษุอิ

Home
การอ่าน
การพัฒนาคน
การได้อ่านหนังสือดีๆสักเล่ม ก็สามารถเปลี่ยนชีวิตของคนได้
โทรทัศน์กอดหนูไม่ได้!
ทำไมต้องเล่น
พัฒนาภาษาด้วยหนังสือภาพ
เส้นทางแห่งการอ่าน
ประสบการณ์การใช้หนังสือกับเด็ก
ปาฐกถาโดย ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย
เรียนรู้จากหนังสือเด็ก
ภูเขาสองลูก
การพัฒนาเด็กด้วยการอ่าน
วิธีส่งเสริมลูกรักให้เป็นนักอ่าน
เรียนรู้ด้วยหัวใจ มิใช่แค่สมอง
หนังสือภาพสำหรับเด็ก
หนังสือภาพสำหรับเด็กวัย ๒-๓ ขวบ
หนังสือเด็ก สร้างคน สร้างโลก
หนังสือที่ต้องอ่านให้เด็กๆฟัง
หนังสือสำหรับเด็ก
หนังสืออาจไม่ใช้อ่าน แท่งไม้อาจไม่ใช้เรียง
หนังสือภาพสำหรับเด็กในบ้านเรา
อ่านหนังสือ ..รากฐานความอบอุ่น ให้หนูโตเป็นคนดี
อีเล้งเค้งโค้งไป Stockholm
หนังสือสำหรับเด็กของคนไทย
พลังของการอ่านให้ฟัง
หนังสือสำหรับเด็ก
อ่านหนังสือให้ลูกฟัง
๑๐ นาที อ่านหนังสือดีให้เด็กฟัง
อ่านเล่มเดิมให้ฟังซ้ำๆ
ปิดทีวีเลี้ยงลูก