เลี้ยงลูกอย่างมีสติ
ผู้เขียนเป็นคนหนึ่งที่ต้องพบเจอกับผู้คนจํานวนมากพอสมควร ทั้งพ่อแม่และเด็กๆ อันเนื่องมาจาก หน้าที่การงานที่เกี่ยวข้องกับเด็กๆ และพ่อแม่อยู่เสมอ รวมทั้งครูบาอาจารย์ และผู้บริหารหน่วยงานที่ต้องเกี่ยวข้องกับเด็กๆ จึงมีโอกาสได้พบเห็นและเรียนรู้ว่า การเลี้ยงดูเด็กจะยากหรือง่าย จะเป็นจริงตามการเจริญเติบโตของชีวิต หรือเป็นไปแบบหลอกๆ ตามความเชื่อของพ่อแม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับความคิด ความเชื่อ ความเข้มแข็งหรือความอ่อนแอของพ่อแม่มากกว่าอย่างอื่น ที่กล่าวมาเช่นนี้ก็เพราะได้พบเห็นมามากว่า คนที่ได้รับโอกาสการศึกษาตามระบบน้อยๆ จํานวนมากระสบความสําเร็จในการเลี้ยงดูเด็กเป็นอย่างดี โดยไม่ต้องใช้ทรัพยากรอะไรมากมาย
การเลี้ยงดูเด็กนั้นจําเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้สติและพิจารณาอยู่ตลอด ว่าเรากําลังส่งสัญญาณใดไปถึงเด็ก เพราะมหัศจรรย์แห่งการเรียนรู้ของเด็กเริ่มต้นตั้งแต่เกิด เด็กรับรู้และเรียนรู้ตลอดเวลา เราปฏิบัติกับเขาเช่นไรก็จะเห็นผลในตัวพวกเขาเช่นนั้น อาทิ ในบางสังคมมีกำหนดเวลาให้นมลูกอย่างชัดเจน ตั้งแต่แรกเกิด ไม่ให้นมเด็กพร่ำเพรื่อ หรือในทันทีท่ีเด็กส่งเสียงร้อง เช่นนี้เป็นวิธีส่งสัญญาณเบื้องต้นให้เด็กปรับตัว เมื่อถึงเวลาเด็กก็จะหิวเต็มที่และดูดนมให้อิ่ม พร้อมๆกับเรียนรู้ไปด้วยว่าต้องรอให้ถึงเวลา ส่งผลให้เกิดภาระกับพ่อแม่น้อยลง ไม่ต้องคอยคะยั้นคะยอ คอยป้อน คอยเดินตาม ซึ่งวิธีหลังๆนี้เด็กก็จะเรียนรู้ว่าเขาจะกินหรือไม่กินก็ได้ กินไปเล่นไปก็ยังได้ เพราะถึงอย่างไรพ่อแม่ก็ป้อนอยู่ดี และเด็กจะรู้ทันทีว่าควบคุมพ่อแม่ได้ เริ่มเรียกร้องจากพ่อแม่ได้ ผลที่ตามมาคือเด็กสามารถเรียกร้องจากผู้ใหญ่ได้ทุกที่ทุกเวลา แล้วพัฒนาไปสู่เรื่องอื่นๆ แล้วก็กลายเป็นผู้มีอํานาจสูงสุดในบ้านไปโดยปริยาย แล้วขอบเขตของอํานาจก็จะขยายไปเรื่อยๆตามเดือนปีที่เด็กเติบโต
กระทั่งวันหนึ่งเด็กอาจจะกลายเป็นเด็กไม่เชื่อฟัง หรือไม่ยอมรับกฎเกณฑ์ใดๆที่พ่อแม่กําหนด และพ่อแม่ก็พร้อมที่จะยอมโอนอ่อนผ่อนตาม เพราะกลัวลูกไม่มีความสุขอยากเห็นเขายิ้ม หัวเราะ แต่ดูเหมือนว่าพ่อกับแม่จะต้องทําในสิ่งที่ยากขึ้นไปเรื่อยๆ เพื่อให้ลูกได้พอใจทุกสิ่งทุกเวลา ขณะที่พ่อแม่เองก็ได้แต่กังวลใจและไม่มีความสุข
การเลี้ยงดูเด็กให้เติบโตเป็นคนดี รู้จักตัวตนของตนเองและคนอื่น จึงไม่เป็นเพียงความรับผิดชอบที่พ่อแม่มีต่อลูกของตนเองเท่านั้น แต่เป็นความรับผิดชอบต่อคนอื่นและสังคมเสมอกัน เพราะหากพวกเขาเติบโตขึ้นมาเป็นบุคคลที่มีเหตุมีผลรู้จักเคารพในกติกา รู้จักกาละเทศะ รู้เคารพคนอื่น รู้จักที่จะรักคนอื่น เขาก็ย่อมจะไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ตนเอง พ่อแม่ และไม่สร้างความเดือดร้อนให้เกิดแก่คนอื่นๆในสังคมเช่นกัน
ดังนั้น เราจึงต้องตั้งสติและใช้ปัญญาประกอบกับสามัญสํานึกของความเป็นพ่อแม่ไปพร้อมกัน นอกเหนือจากการให้ความรักที่มั่นคงแก่พวกเขา โดยเริ่มจากสิ่งที่เล็กที่สุดในบ้าน นับตั้งแต่การป้อนนม ป้อนอาหาร กระทั่งขยายผลไปสู่เรื่องที่ใหญ่ขึ้นไปเรื่อยๆ
สังคมเราในขณะนี้แตกต่างจากสามสิบปีก่อนอย่างแทบเทียบกันไม่ได้ วันนี้มีเด็กๆจํานวนมากได้รับการเลี้ยงดูโดยคนเพียง ๑-๒ คน และแต่ละคนมีเวลาที่ไม่ตรงกัน มีวิธีสร้างความพอใจให้แก่เด็กแตกต่างกัน ผิดกับเด็กๆในชนบทที่ยังมีความเป็นชุมชนอยู่ เด็กๆที่เติบโตในชุมชนหรือครอบครัวขยาย มีคนดูแลหลายคนทั้งพี่ ป้า น้า อา ปู่ ย่า ตา ยาย รวมไปถึงพระสงฆ์และผู้อาวุโส หากเด็กมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมทุกคนก็จะช่วยกันบอกกล่าวเด็กๆได้ และอาจจะถึงขั้นเล่าขานกันไปทั้งหมู่บ้านว่าใครเลี้ยงลูกแล้วสร้างความเดือดร้อนให้แก่คนอื่นอย่างไร เด็กๆในสังคมแบบดั้งเดิมจึงมีนัยให้เขาใจว่าว่าพวกเขาเป็นเด็กของชุมชน และพวกเขาก็รับรู้สัญญาณนี้ได้ เด็กๆจึงไม่ใช่ลูกของเราตามลําพังเช่นที่เป็นอยู่ในสังคมเมือง การเลี้ยงดูเด็กจึงเป็นความรับผิดชอบทั้งต่อตนเอง และสังคม ศ.นพ.ประเวศ วะสี เคยกล่าวในการสัมมนาการเลี้ยงลูกในสังคมปัจจุบันว่าอย่าให้ลูกเป็นใหญ่ในบ้าน เพราะเขาจะสร้างความเดือดร้อนให้เกิดแก่ตนเอง พ่อแม่ และสร้างความเดือดร้อนให้เกิดแก่สังคม