Skip to content. | Skip to navigation
เอ่ยถึงการเล่น หลายคนคงนึกย้อนถึงวันวานในวัยเยาว์ การเล่นสารพัดรูปแบบฉายภาพในความทรงจำอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็น เป่ากบ ซ่อนหา ปีนต้นไม้ ยิงนกตกปลา เล่นเป็นครู เล่นขายขนมครก ต่อเลโก้ ตุ๊กตาบาร์บี้... ประสบการณ์การเล่นของเด็กในเมืองกับเด็กต่างจังหวัด ย่อมแตกต่างกัน เช่นเดียวกับการเล่นของเด็กรุ่นโปเกมอนกับเด็กรุ่นหน้ากากเสือ แต่ไม่ว่าจะเกิดที่ไหน โตในยุคไหน เด็กก็ยังต้องเล่น เรียกได้ว่าเกิดมาเป็นเด็กก็ต้องเล่นเด็ก กับการเล่น จึงเป็นสิ่งที่คู่กัน ผู้ใหญ่ก็มองว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่เด็กจะเล่น ก็ในเมื่อเด็กเป็นวัยที่ต้องเล่น จะเล่นมากเล่นน้อย เล่นจนพ่อแม่ต้องดุว่าปากเปียกปากแฉะ แต่เด็กก็ได้เล่น แล้วเสียงพรำ่บ่นก็ผ่านพ้นไป
พร้อมๆกับการเติบโตของเด็ก การเล่น จึงกลายเป็นเพียงเหตุการณ์ปกติที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาหนึ่งของมนุษย์เรื่องบางเรื่องเกิดขึ้นบ่อยครั้ง กลายเป็นความเคยขิน จนขาดความสงสัยต่อสิ่งที่เกิดขึ้น หากเราได้หยุดคิด เราอาจเข้าใจถึงที่มาและที่ไปของสิ่งที่นำมาสู่ความเคยชิน และบางทีอาจทำให้เราได้คำตอบที่แท้จริงต่อเรื่องนั้น พร้อมกับสลัดทิ้งความเคยชินนั้นเสีย เช่นเดียวกับเรื่องการเล่นที่เราต่างมองว่าเป็นเพียงพฤติกรรมหนึ่งในวัยเด็ก หากเราตั้งคำถามต่อไปอีกสักนิด ทำไมเด็กต้องเล่น เล่นแล้วเด็กได้อะไร แล้วทำไมการเล่นจึงสำคัญถึงขนาดมีสมาคมเพื่อสิทธิทางการเล่นของเด็ก (International Play Right Association ; IPA) และองค์การสหประชาชาติยังต้องกำหนดสิทธิการเล่นของเด็กไว้ในอนุสัญญาว่าด้วย สิทธิเด็ก
มนุษย์เรารู้จักการเล่นตั้งแต่แบเบาะ การเล่นของทารกก็คือการเรียนรู้เพื่อที่จะปรับตัวให้มีชีวิตรอด ในแวดวงจิตวิทยาวัยทารกจึงมีคำกล่าวว่า การเล่นคือการเรียน ในการเรียนรู้เพื่อการอยู่รอดก็คือการพัฒนาส่วนต่างๆของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นการมองดู การแกว่งไกวของของเล่น ซึ่งถือเป็นการฝึกกล้ามเนื้อตา หรือการขยับนิ้วและฝ่ามือประคองเต้านมขณะดูดนม ก็เป็นการเรียนรู้ที่จะบังคับกล้ามเนื้อนิ้วมือและมือ ซึ่งมีนัยยะแสดงถึงสมองของทารกกำลังพัฒนา การเล่นของมนุษย์จึงเปลี่ยนแปลงไปตามการพัฒนาทางร่างกายตามวัยซึ่งสาระจาก การเล่นอย่างหนึ่งก็คือ การส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาทางร่างกายเมื่อเด็กถึงวัยที่วิ่งได้ ผู้ใหญ่จึงถึงกับเหนื่อยอ่อนกับการวิ่งไล่จับ แต่การวิ่งเล่นของเด็กนั้นกลับช่วยให้กล้ามเนื้อส่วนต่างๆได้พัฒนาอย่างเต็ม ที่การเล่นรูปแบบต่างๆของเด็กไม่เพียงจะเสริมสร้างการ พัฒนาทางร่างกายเท่านั้น ทว่าการเล่นยังสามารถกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาด้านสติปัญญาและจิตใจอีกด้วย แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับผู้ที่จะหยิบยื่นโอกาสให้เด็กได้เล่นตามวัยของเขาหรือ ไม่ ก็คือผู้ใหญ่นั่นเอง
“ใจ” เล่น “ปัญญา” แล่น
เป็นที่ทราบกันดีว่า ในวัยเด็กโดยเฉพาะช่วง ๐ - ๖ ขวบ เป็นช่วงที่เซลล์สมองมีการพัฒนามากที่สุด เด็กที่ได้รับการกระตุ้นให้เกิดการคิด เกิดจินตนาการย่อมเท่ากับเกิดการเชื่อมโยงของใยประสาทมากขึ้นซึ่งเท่ากับ เพิ่มความฉลาดไว้ในตัว เด็กที่มีโอกาสได้เล่นอย่างที่ต้องการ(ตามธรรมชาติของความเป็นเด็ก) ได้ใช้พลังสรรค์สร้างการเล่น ย่อมเท่ากับได้ทำให้สมองเกิดการพัฒนา การเล่นอย่างอิสระจะทำให้เด็กได้ใช้พลังตัวเองอย่างเต็มที่เด็กไม่รู้หรอกว่าความสกปรกคืออะไร เด็กไม่รู้หรอกว่าอันตรายคืออะไร และไม่รู้หรอกว่าอะไรคือสิ่งที่ไม่ควรทำ เขารู้แต่ว่าเขาสนุกที่ได้เล่นทราย ได้เล่นน้ำ ตื่นเต้นที่ได้มุดเข้าไปในโพรงไม้ สนุกที่ได้วาดรูปบนฝาผนังบ้าน ความไม่รู้จึงเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของเด็ก ความรู้สึกสนุกจึงเป็นการตอบสนองต่อภาวะที่สร้างความพึงพอใจให้กับเขา และเมื่อเขาได้เล่นได้ทำ เขาได้คนพบสิ่งใหม่ๆ กฎระเบียบข้อห้ามจากผู้ใหญ่จึงอาจกลายเป็นตัวปิดกั้นโลกแห่งการเรียนรู้ของ เด็กได้สิ่งรอบตัวเด็กคือสิ่งแปลกใหม่สำหรับเขา การเข้าถึงเพื่อทำความรู้จักสิ่งเหล่านั้นจึงเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กได้ เรียนรู้โลกที่เขาเห็นด้วยตัวเองอย่างไรก็ดี การเล่นของเด็กยังเป็นการจำลองสังคมของผู้ใหญ่มาให้เด็กได้สัมผัส การเล่นทำให้เด็กต้องเรียนรู้ที่จะเล่นกับคนอื่น ปรับตัวไม่ว่านิสัยและอารมณ์ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม บทเรียนเหล่านี้จะเป็นพื้นฐานให้เด็กสำหรับการก้าวไปสู่การใช้ชีวิตในโลกแห่งความเป็นจริง...เล่นอย่างอิสระอย่างที่นึก ใจก็สนุก สมองพัฒนา สติปัญญาจึงแล่นฉิว
หากเป็นเมื่อสัก ๒๐ - ๓๐ ปีที่แล้ว พ่อแม่คงไม่ต้องกังวลใจกับการให้ลูกออกไปวิ่งเล่นนอกบ้าน แต่ในยุคนี้ไม่เพียงความไว้วางใจของพ่อแม่ที่มีต่อเมืองจะลดน้อยลง ทว่าพื้นที่ที่จะให้ลูกได้วิ่งเล่นก็ลดน้อยตามลงไปด้วย
พื้นที่เล่นของเด็กในเมืองจำกัดลงเหลือเพียงเกม คอมพิวเตอร์ ตัวต่อเลโก้หน้าตักอย่างดีก็ได้วิ่งเล่นในสวนสาธารณะใหญ่ใจกลางเมือง หรือไม่ก็ในตรอกซอกซอย ซึ่งไม่ต่างจากพื้นที่เล่นของเด็กต่างจังหวัด ที่นับวันความเป็นเมืองได้รุกคืบทุ่งกว้าง หนองน้ำของเด็กๆไป จะดีแค่ไหนหากเมืองเจียดเนื้อที่สักนิดให้เป็นพื้นที่ของเด็กโดยเฉพาะ พื้นที่ที่เด็กสามารถเล่นได้ตามอิสระ อิสระในเรื่องของความคิดและความต้องการขณะเดียวกันยังกระตุ้นให้เขาเกิดการเรียนรู้ หาใช้พื้นที่ที่มีสนามหญ้าเขียวให้วิ่งเล่นได้อย่างเดียว หรือมีเครื่องเล่นปักหมุดยึดแน่นเพียงเท่านั้น กว่าครึ่งศตวรรษแล้วที่สนามเด็กเล่นที่เมืองเอนดรัป (Endrup) ประเทศเดนมาร์ก ได้เปิดให้เด็กเข้าไปเล่นได้ตามใจชอบ เด็กๆสามารถสร้างบ้าน ก่อกองไฟ ทำอาหารง่ายๆ ทำคอกสัตว์ เอาสัตว์มาเลี้ยง ปลูกต้นไม้ ฯลฯ โดยใช้วัสดุเหลือใช้ที่ชาวชุมชนบริจาคให้ ณ ที่แห่งนี้จึงกลายเป็นเมืองของเด็กๆที่พวกเขาสามารถประดิษฐ์คิดสร้างการเล่น และอุปกรณ์ขึ้นได้เอง โดยมีเจ้าหน้าที่ที่เรียกว่า Play Leader เป็นคนคอยดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวก นอกจากนี้เด็กๆยังจะได้รู้จักกับเพื่อนใหม่ต่างวัย ต่างเพศ ได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกัน ได้พบเจอทั้งน้ำจิตน้ำใจความเอื้อเฟื้อต่อกัน หรืออาจต้องเจอกับความก้าวร้าวจากเด็กบางคน ซึ่งก็ไม่แตกต่างจากสังคมจริงที่เด็กจะต้องพบเจอเมื่อโตขึ้น
แนวคิดสนามเด็กเล่นที่ตามใจเด็กเช่นนี้ได้แพร่ขยาย ไปยังหลายประเทศทางแถบยุโรป ในเอเชียจะพบเห็นที่ฮ่องกง อินเดีย ญี่ปุ่น โดยที่สนามเด็กเล่นนี้สามารถเป็นส่วนหนึ่งในพื้นที่สวนสาธารณะของเมือง หรืออาจจะตั้งแยกออกมาจากสวนสาธารณะบนพื้นที่เล็กๆในชุมชนก็เป็นได้ โดยมีชาวชุมชนเป็นผู้สนับสนุนจัดหาพื้นที่อุปกรณ์และงบประมาณว่าจ้าง Play Leader สวนสำหรับเด็กอาจเป็นทางเลือกหนึ่งเพื่อเพิ่มพื้นที่การเล่นให้กับเด็กและ ให้เด็กได้มีโอกาสพัฒนาการเรียนรู้ผ่านการเล่นอย่างอิสระ หากผุ้ใหญ่เข้าใจและมองการเล่นของเด็กว่า "การเล่นคือการเรียนรู้" ย่อมเท่ากับเปิดโอกาสให้เด็กได้พัฒนาทั้งทางร่างกาย สติปัญญา และจิตใจของตนเอง ผลที่ตามมาไม่เพียงเด็กจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่อย่างมีคุณภาพ (ดังที่ใครๆต่างคาดหวังและพูดกันมานาน) ทว่าสังคมยังได้มีประชากรที่มีศักยภาพเพิ่มขึ้นอีกด้วย การเล่น จึงไม่ใช่เรื่องเล่นๆ สำหรับผู้ใหญ่เสียแล้วเพียงแค่ช่วยกันมองให้ลึกลงไปอีกนิด ก็จะรู้ว่าการเล่นมีคุณค่ามากมายแฝงอยู่เป็นคุณค่าที่เด็กและสังคมพึงได้รับ